วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ทฤษฎีจำกัดความเสี่ยง สูตรเล่นหุ้นนอกตำรา

ทฤษฎีจำกัดความเสี่ยง สูตรเล่นหุ้นนอกตำรา
บางคนอาจจะลุกขึ้นมาฉีกตำราการลงทุนทิ้งเมื่อรู้ว่าความสำเร็จของน.พ.ยรรยง ไม่ได้เกิดจากการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานอย่างที่ร่ำเรียนกันมา สำหรับน.พ.ยรรยง ตำราเดียวที่อ้างอิงได้ก็คือ "ทฤษฎีจิตวิทยามวลชน" ถึงแม้เขาจะไม่ได้ใช้ศัพท์คำนี้มาอธิบาย แต่รูปแบบและวิธีลงทุนของเขาบ่งชี้ว่าเขาเล่นหุ้นแบบ "กระแสนิยม" หมอคนนี้มีหลักคิดแหวกแนวตั้งแต่ยังมีอาชีพ "หมอฟัน" เจ้าตัวบอกว่าเวลาจะคิดค่าทำฟันลูกค้า แทนที่จะกำหนดราคาตามป้ายแต่กลับคิดราคาตาม "ฐานะ" ของลูกค้าแต่ละคน "ดูแล้วคนไหนรวยผมก็คิดแพง คนไหนไม่ค่อยมีเงิน ผมจะทำให้ฟรี" นี่คือวิธีการทำการค้าที่กรมการค้าภายในอาจไม่ชอบใจนัก ถึงจะเล่นหุ้นนอกตำราแต่วิธีจำกัดความเสี่ยงที่หมอเรียกว่ากฎเอาตัวรอดสำหรับนักเล่นหุ้นระยะสั้นก็คือ ถ้าขาดทุนต้องรีบ "Stop Loss" หมายถึง "รีบขายเพื่อหยุดยั้งการขาดทุน" ถ้ายังมีกำไรให้ถือต่อไป ซึ่งในตำราฝรั่งเรียกว่า "Let the Profit Run" และกฎอีกข้อหนึ่งคือ "เมื่อมีกำไรแล้วห้ามกลับมาขาดทุน" ถ้ามีใครไปถามหมอว่า "ไปลอกกฎของฝรั่งมาเหรอ!" เขาจะรีบปฏิเสธและบอกว่า "ผมไม่ค่อยเชื่อวิธีของฝรั่ง ไม่เห็นว่าจะเก่งกว่าเราตรงไหนเลย..." หมอมักย้ำเสมอว่า "ตำรา" ที่เขาใช้ คือ "ประสบการณ์" และเรียนรู้มาจากเพื่อนในวงการมากกว่า อย่างไรก็ตาม "ทฤษฎีจำกัดความเสี่ยง" ของหมอ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และต้องนำมาขยายความเพิ่มเติม วิธีจำกัดความเสี่ยงอันดับแรก คือ คุณต้องอ่านสภาวะตลาดหุ้นให้ออก ต้องตอบตัวเองได้ว่าพรุ่งนี้ หรืออาทิตย์หน้า หรืออีก 1 เดือนข้างหน้า ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร? หุ้นที่ถืออยู่จะเป็นอย่างไร? "ผมมองว่าอะไรที่ตอบไม่ได้ หรืออะไรที่คุณไม่รู้ คือ...ความเสี่ยง แต่อะไรที่คุณรู้ คือ..ไม่เสี่ยง" น.พ.ยรรยงกล่าว ยกตัวอย่างเช่นหุ้นบริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (บาฟส์) "หุ้นตัวนี้ผมได้เงินเยอะ" ถ้าเราดูจากข่าวหนังสือพิมพ์ บาฟส์หาผู้แทนจัดจำหน่ายได้ดี และทำโฆษณาได้ดี คือ ออกทั้งวิทยุ หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ มันทำให้เกิดกระแสนิยมขึ้นมา ทำให้ความต้องการหุ้นตัวนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ "ผมจะดูว่ากิจการเป็นอย่างไร? ผูกขาดรึเปล่า! รายได้ และกำไรเป็นอย่างไร? ผู้บริหารวางแผนเพิ่มสภาพคล่องโดยการแตกพาร์ เราก็จับจุดตรงนี้ รู้ว่ามวลชนมีความต้องการมาก ในแง่ของราคา IPO ก็ต่ำ จำนวนหุ้นที่ออกมาก็ไม่มาก ผมก็ได้ข้อสรุปตรงนี้ว่าผู้บริหารคงอยากจะให้หุ้นของตัวเองขึ้น" จากนั้นก็เจาะลงไปดูรายละเอียดของผู้บริหาร อย่างแรกเลยต้องรู้ว่าผู้ถือหุ้นเป็นใคร? ผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ การบินไทย 30% สนง.ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 10% บริษัทน้ำมัน 5 แห่ง ถือหุ้นรวมกัน 43% และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย 6% "ผมก็ตั้งคำถามว่าแล้วผู้ถือหุ้นใหญ่จะขายหุ้นออกมั้ย! ผมก็ประเมินว่าเขาคงไม่ขายแน่! ดังนั้นถ้าผมเจอหุ้นอย่างนี้บอกได้เลยว่า "ได้เงิน" เพราะเราประเมินออกตั้งแต่แรกว่า หุ้นตัวนี้มีดีมานด์มากกว่าซัพพลาย ลักษณะการซื้อ คือ ผมจะซื้อหุ้นที่ประเมินแล้วว่าตลาดจะเกิด "ความนิยม" เพราะฉะนั้นความเสี่ยงจะต่ำ" หมอตั้งข้อสังเกตว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ้าพบว่าผู้บริหารตั้งใจจะเอาหุ้นเข้าตลาด "เพื่อขาย" หุ้นตัวนั้นจะไปไม่ไกล หลักในการดูตรงนี้ หมอบอกว่า...อันนี้ดูง่ายมาก "ผมจะบอกหลักให้เลย ไปดู "สัดส่วน" ของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ถ้าผู้ถือหุ้นใหญ่ถือคนเดียว 20-30% อย่างนี้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไปดูแล้วเห็นสัดส่วนมันกระจายยาวเป็นหางว่าว อย่างนี้มีเจตนาชัดเจนว่าต้องการขายออก" เช่นคนแรกถือ 15% คนที่สองถือ 7% คนที่ 3 ลงมาถือคนละ 5% ไล่ลงมาเหลือ 4% 3% 2% อย่างนี้บอกได้เลยว่ากระจายให้นอมินีถือแล้วตั้งใจขายออกหลังเข้าตลาด หุ้นประเภทนี้จะไปได้ไม่ไกล หมอจึงแนะนำว่าวันที่จะทำกำไรดีที่สุด ก็คือ "ขายวันแรก" แต่ถ้าเจอหุ้นดี เรามองออกว่าราคาจะไปไกล ดีที่สุด ก็คือ เราต้อง "ซื้อวันแรก" หมอมีวิธีประเมินมูลค่าหุ้นอย่างไร? อย่างแรกต้องรู้พื้นฐานของหุ้นให้หมด เช่น P/E เท่าไร? Book Value เท่าไร? ยอดขายเท่าไร? กำไรเท่าไร? ผู้ถือหุ้นเป็นใคร? มีหุ้นจดทะเบียนกี่หุ้น สัดส่วนที่ถือมีใครบ้าง! อยู่ในมือผู้ถือหุ้นใหญ่กี่เปอร์เซ็นต์ "เวลาผมจะซื้อหุ้นผมต้องรู้ข้อมูลพวกนี้ให้หมด แต่เวลาซื้อหุ้นจริงๆ จะไม่สนใจว่าราคาหุ้นสูงกว่า P/E กี่เท่า สูงกว่า Book Value กี่เท่า ผมไม่ได้นำมาใช้ตัดสินใจ เป็นแค่ตัวสนับสนุนว่าหุ้นที่เราซื้อมีพื้นฐานรองรับแค่ไหน" ส่วนเรื่องราคา หมอคิดว่าจะมีกลไกตลาดรองรับเองว่าควรจะอยู่ตรงไหน! เขาจะไม่ค่อยให้ความสำคัญ แต่ยินดี "ซื้อแพง" ถ้ามั่นใจว่าสามารถ "ขายแพง" กว่าราคาที่ซื้อมา แต่สำหรับหุ้น IPO จากประสบการณ์ของหมอ ถ้าหุ้นตัวไหนที่มีความนิยมสูง ราคาหุ้นวันแรกจะ "เปิด" กระโดด "ผมจะดูอารมณ์ของตลาด ถ้าน่าสนใจผมจะเข้าไปซื้อตอนเปิดตลาดวันแรก อย่างหุ้นบาฟส์ผมได้หุ้นจอง 60 บาท ราคาเปิดกระโดดวันแรก ผมก็เข้าเก็บที่ 94 บาท มาซื้ออีกทีที่ 100 บาท 110 บาท และ 120 บาท จากนั้นก็หยุดซื้อ พอขึ้นมา 140 กว่าบาท ผมก็ขาย" เขาอธิบายอีกว่าเวลาได้หุ้นจองมาส่วนหนึ่ง ก็จะมา "เฉลี่ย" กับ "ต้นทุน" ที่ซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี่คือหลักจำกัดความเสี่ยง "ฟังผมพูดเหมือนจะมีความเสี่ยง...แต่จริงๆ แล้วไม่มี เช่น ผมได้หุ้นจองมา 3 หมื่นหุ้น ในราคา 60 บาท พอเข้าตลาดวันแรกผมเริ่มซื้อที่ราคา 94 บาท สมมติซื้อเข้าไปอีก 3 หมื่นหุ้น ผมก็จะเฉลี่ยต้นทุนโดยเอา 60 บวก 94 หาร 2 ต้นทุนผมก็จะอยู่ที่ 77 บาท ก็ยังได้กำไรเยอะเมื่อเปรียบเทียบกับราคาในตลาด แสดงว่าผมไม่มีความเสี่ยงเลยใช่มั้ย!...เพราะทุกครั้งที่เรา "มีกำไร" เท่ากับว่าเรา "ไม่มีความเสี่ยง" ตราบใดที่เรา "ขาดทุน" ถึงจะเรียกว่ามี "ความเสี่ยง" เขาเล่าว่าตอนที่จองหุ้นบาฟส์ได้หุ้นมาไม่เยอะ จำได้ว่าครั้งแรกเข้าไปซื้อที่ราคา 94 บาท ซื้อไปประมาณ 5 แสนหุ้น แล้วมาซื้อที่ 100 บาท อีกประมาณ 2-3 แสนหุ้น โดยทุกสเต็ปท์ที่ซื้อจะลดจำนวนหุ้นลงเรื่อยๆ "วิธีการของผม ก็คือ เวลาที่ผมซื้อหุ้นขาขึ้น ผมจะลดสัดส่วนลงประมาณครึ่งหนึ่งทุกครั้ง" สมมติว่าเขาเริ่มซื้อหุ้นบาฟส์ที่ราคา 94 บาท จำนวน 5 แสนหุ้น ซื้อที่ 100 บาทที่ 2.5 แสนหุ้น ซื้อที่ 110 บาทที่ 1.25 แสนหุ้น และซื้อที่ 120 บาทที่ 6.25 หมื่นหุ้น (เวลาซื้อหุ้นขาขึ้นจะลดจำนวนหุ้นลงสเต็ปท์ละ 50%) เขาจะใช้เงินไปทั้งหมด 93.25 ล้านบาท เท่ากับว่าต้นทุนเฉลี่ยของเขาจะอยู่ที่หุ้นละ 99.46 ล้านบาท "ซื้ออย่างนี้เพื่อให้ "ต้นทุน" เฉลี่ย "ต่ำกว่า" ราคาตลาด "พอเราเห็นว่าราคามันขึ้นไปเยอะก็รอดูอย่างเดียว เพื่อหาจังหวะขาย" เขาบอกเคล็ดลับนี้ให้ฟัง ปรัชญาการจำกัดความเสี่ยงอีกอย่างหนึ่งของหมอ คือ เวลาหุ้นขึ้นมาแรงๆ ถ้าขึ้นมาถึง 50% ยังไง!ก็ขาย เพราะยังไง!หุ้นก็ต้องปรับตัวลง และถ้าหุ้นลงมาถึง 50% ยังไง!ก็ต้องซื้อ เพราะยังไง!ก็ต้องปรับตัวขึ้น "มันเหมือนกับเป็นสูตรในใจผมเลยว่าถ้าหุ้นขึ้น 50% ลง 50% ยังไง!ก็ต้องปรับตัว" เขาเชื่อเช่นนั้น แต่กรณีที่ซื้อแล้ว ราคามีแนวโน้มลดลง หมอจะไม่ยอมให้ "กำไร" กลับมาเป็น "ขาดทุน" อย่างเด็ดขาด เขาจะใช้วิธีลดความเสี่ยงโดยการทยอยขายหุ้นออกจากพอร์ต น.พ.ยรรยงได้อธิบายปรัชญาของเขาว่า "จะกำไรน้อย หรือกำไรมากไม่สำคัญเท่ากับ ทำยังไง!ก็ได้ไม่ให้กำไรต้องกลับมาเป็นขาดทุน เพราะมันเป็นวิธีเล่นหุ้นที่ผมถือว่าตัวเอง "โง่" มาก" หมอสรุปให้ฟังว่า กฎการจำกัดความเสี่ยงของเขาจริงๆ แล้วมีอยู่แค่ 4 ข้อ คือ หนึ่ง ขาดทุนต้อง "Cut Loss" (ยอมตัดขาดทุน) สอง ถ้ามีกำไรให้ถือต่อ สาม ถ้ามีกำไรห้ามกลับมาขาดทุน และสี่ ถ้าขาดทุนครั้งแรกต้องหยุดการลงทุน มิฉะนั้นจะทำผิดซ้ำสอง "นี่คือกฎเกณฑ์ที่ผมจะยึดถือเอาไว้ตลอด ผมถือคติว่าถ้าเราผิดครั้งแรกแสดงว่าเราเริ่ม:-) มองหุ้นไม่ออก แสดงว่าสิ่งที่เรามองว่าถูกที่จริงมันผิด อย่างนี้ผมจะลงจากเวทีชั่วคราว" หมอยังมีกฎอีกว่า จะไม่เล่นหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำ จะซื้อเฉพาะหุ้นที่มีสภาพคล่องซื้อขายสูง และจะเล่นเฉพาะหุ้นที่อยู่ใน "กระแสนิยม" ขณะนั้น เขาเปรียบวิธีการเลือกหุ้นของตัวเองว่าเหมือนดูเทรนด์แฟชั่น "สมมติว่าคนกำลังบ้าหลุยส์วิตตอง ผมก็จะซื้อหลุยส์วิตตอง ถ้าผมประเมินว่าหุ้นตัวนี้กำลังจะไป ดูข้อมูลทุกอย่างแล้วเข้าคอนเซ็ปท์ ผมจะเข้าไปซื้อเลยโดยไม่สนใจราคา แต่ถ้าคนเลิกเห่อ....ผมก็เลิกเล่น" ดังนั้นเขาจึงไม่สนใจว่าหุ้นที่ซื้อราคาจะ "ถูก" หรือ "แพง" หากจะว่าไปแล้วสไตล์การเล่นหุ้นของน.พ.ยรรยงจัดว่า "เฉียบคม" อย่างยิ่ง เขากล่าวว่า "สไตล์ของผมคือเล่นหุ้นตาม "แฟชั่น" คือผมไม่ชอบนำแฟชั่น และไม่ชอบตามแฟชั่น แต่ผมจะ "เกาะกระแส" แฟชั่น เพราะผมเชื่อว่า นี่คือวิธีการจำกัดความเสี่ยงที่ดีที่สุด" อาจจะพูดได้ว่าน.พ.ยรรยงก็คือ "นักเก็งกำไร" ที่เฉลียวฉลาด เพราะไม่ใช่แค่ตามแห่ แต่มีหลักการของการเก็งกำไรพอตัวทีเดียว "วอลุ่ม" เป็นปัจจัยหนึ่งที่หมอใช้เป็นเงื่อนไขในการซื้อหรือขาย ช่วงไหนที่ตลาดไซด์เวย์วอลุ่มไม่ค่อยมี หมอจะหยุดดู และทำตัวเหมือนกับ "เหยี่ยว" ที่รอคอยจังหวะเข้าโฉบเหยื่อ เมื่อไรก็ตามที่เขาบอกตัวเองว่าช่วงนี้หุ้น "เล่นยาก" ลงทุนไปก็ไม่คุ้ม เขาจะหยุดเล่นเลย นี่เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้น.พ.ยรรยงแตกต่างจากนักเก็งกำไรทั่วไป นักเล่นหุ้นคนนี้ล่ำซำมาได้ไม่ใช่เพราะ "โชคดี" แต่เป็นเพราะเขาเลือกจับเฉพาะ "ปลาใหญ่" และกล้า "วางเดิมพันหมดหน้าตัก" ในช่วงที่ตลาดหุ้นบูม เพราะเขามองว่าเป็นช่วงจังหวะที่ดีที่สุดของการทำกำไร และ "จำกัดความเสี่ยง" จากประสบการณ์ที่ผ่านมา น.พ.ยรรยงเชื่อว่า ตลาดหุ้นมี "ฤดูกาล" ของมัน ในแต่ละปีจะมีช่วง "นาทีทอง" อย่างน้อย 1-2 เดือน และเขาจะไม่ยอมปล่อยให้โอกาสทองนี้หลุดมือ เขาเผยว่า จะไม่เล่นหุ้นแบบ "ทอดแห" และไม่ซื้อหุ้นโดยไม่มีเป้าหมาย "ผมถือคติว่าจะไม่จับปลาเล็ก ผมชอบจับ "ปลาวาฬ" วิธีการคือ จะซื้อหุ้นน้อยตัว แต่จะซื้อทีละเยอะๆ โดยมองผลตอบแทนต่อครั้งประมาณ 20-30% หรืออย่างน้อยก็ต้อง 10% ขึ้นไป สำหรับนักลงทุนรายย่อยที่เขาเห็นส่วนใหญ่จะซื้อขายหุ้นบ่อยเกินไป และหวังกำไรเพียงแค่ 3-4% ก็ขาย น.พ.ยรรยงบอกว่า "ภาษานักเล่นหุ้นเขาเรียกว่า "กินน้ำหวานบนปลายมีด" คือได้รับผลตอบแทนน้อย แต่ลิ้นคุณต้องเจ็บตลอด อย่างนี้ผมจะไม่เล่น เพราะผิดหลักการจำกัดความเสี่ยง" คนส่วนใหญ่มักจะมองน.พ.ยรรยงว่าเขาเป็น "นักเสี่ยงโชค" บางคนมองว่าเขาเป็น "นักพนัน" ด้วยซ้ำ ไม่ว่าใครจะให้คำ "จำกัดความ" ตัวเขาว่าอย่างไร? หมอก็ยังยืนยันว่าเขาเป็นคนที่ "ไม่ชอบเสี่ยง" "ผมจบทางด้านวิทยาศาสตร์ ผมจะเล่นด้วยเหตุผล อะไร?ที่คิดว่าเป็นความเสี่ยงผมจะไม่เล่น อะไร?ที่ผมมองว่าอนาคตไม่ดีผมจะไม่เล่น ไม่ใช่ว่าการที่ผมเป็นนักเก็งกำไร ผมต้องเล่นหุ้นสุ่มสี่สุ่มห้า เปล่า! เพราะถ้า "เสี่ยง" ผมไม่เข้า" นี่คงเป็นบทสรุปชัดเจนว่า ทำไม! เขาจึงแตกต่างจากนักเก็งกำไรอื่นๆ

เงินเป็นแค่ "วัตถุ" ใช้ซื้อความสุขไม่ได้

เงินเป็นแค่ "วัตถุ" ใช้ซื้อความสุขไม่ได้
ไม่น่าเชื่อว่าเบื้องหลังนักเลงหุ้นพันล้านอย่างน.พ.ยรรยงกลับเรียบง่าย เป็นนักเล่นหุ้นติดดิน จนอาจจะเรียกว่า "หลุดกรอบ" วิถีชีวิตของคนรวย ตรงข้ามกับวิธีคิดที่เฉียบคม และอยู่ในขั้นปราดเปรื่องคนหนึ่งของวงการ "ผมว่าความสุขมันไม่ได้อยู่ที่สิ่งของ ไม่ใช่ว่ามีบ้านใหญ่แล้วจะนอนหลับ มันไม่เกี่ยว ความสุขมันไม่ได้อยู่ที่ว่าเงินคุณซื้อได้ ตอนนี้ผมอายุ 44 ปี อย่างมากผมก็อยู่ได้อีก 30 ปี ยังไงผมตายไป เงินผมก็ยังเหลือ" หมอบอก Biz&Money ไว้อย่างนั้น คำนิยาม "ความสุข" ของน.พ.ยรรยง จึงแตกต่างจากหลายคน หมอบอกว่า นักเล่นหุ้นทั่วไปที่เขารู้จักส่วนใหญ่จะอยู่ในกรอบทั่วๆ ไป "แต่สำหรับผมจะหลุดกรอบออกมา อย่างเช่น เมืองนอกผมจะไม่ไปเลย จำได้ว่าเคยไปไกลสุด คือ สิงคโปร์ ผมชอบเที่ยวเมืองไทยมากกว่า ผมชอบการเดินป่าเป็นชีวิตจิตใจ ไปกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ....นี่แหละคือความสุขของผม " วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ หมอชอบไปดูหนัง แต่วันธรรมดาหลังตลาดหุ้นปิดทุกเย็นหมอชอบไปวิ่งที่สวนลุม เขาให้เหตุผลว่าบรรยากาศก็ดี และไม่ต้องเสียตังค์...วันไหนที่หุ้นตก ก็จะวิ่งหลายรอบหน่อย! แต่หมอไม่ชอบไปตีกอล์ฟ และจะเข้าฟิตเนสเป็นบางครั้ง แต่จะไม่เลือกที่เป็นของฝรั่ง(ที่อยู่ในตึกที่หมอเล่นหุ้น) ซึ่งเขาบอกว่า "ค่อนข้างจะ Anti ฝรั่งในเรื่องนี้" โดยชีวิตส่วนตัวหมอบอกว่าตัวเองเป็นคนใช้เงินไม่เก่ง "10 ปีที่แล้วผมใช้เงินยังไง! วันนี้ก็ยังใช้เงินยังงั้น ปรัชญาของผมคิดว่าความสุขมันไม่ได้อยู่ที่เงิน การที่ผมทำเงินได้มาก เป็นเพราะผมชอบงานทางด้านนี้ ผมจะภูมิใจทุกครั้งที่ผมชนะมันมากกว่า" แต่การใช้ชีวิตกลับตรงกันข้าม ยกตัวอย่างนาฬิกาทุกวันนี้เขาใส่ไซโก้เรือนละ 9 พันบาท "ถ้าเป็นเพื่อนๆ เขาก็ใส่โรเล็กซ์ ตัวผมไม่เคยให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ ผมมองว่าคุณค่าในตัวผมมีค่ามากกว่าพวกเสื้อผ้า รองเท้า หรือนาฬิกามาก ผมเดินไปไหน คนที่รู้จักเขาก็รู้ว่าผมรวยอยู่แล้ว ดังนั้นไม่มีความจำเป็นต้องใส่ของแพงๆ เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าผมรวย" หมอยังกล่าวอีกว่าสไตล์การใช้ชีวิตจะเน้นแบบง่ายๆ ชอบซื้อเสื้อผ้าลดราคา และรถที่ใช้ทุกวันนี้ก็เป็นรถเก่า "ผมไม่เคยซื้อรถป้ายแดงใช้ เพราะผมมองว่าราคารถใหม่มันสูงเกินไปสำหรับเมืองไทย รถยุโรปราคาคันละ 1-2 ล้านบาท ผมรออีก 3 ปี ผมสามารถซื้อมันในราคา Discount 50% ผมซื้อรถผมไม่ได้ขับไปโชว์ใคร แต่ผมจะดูสมรรถนะของมันมากกว่า" ปัจจุบันนี้หมอใช้รถวอลโว่ 850 ซึ่งเขาบอกว่า "ใช้มาแล้ว 6 ปี" ทุกครั้งที่จะซื้ออะไร? หมอจะมองที่ประโยชน์ของมันมากกว่า "ซื้อนาฬิกาค่าของมันอยู่ที่ "เวลา" ซื้อรถยนต์ ค่าของมันอยู่ที่ "สมรรถนะ"ในการขับ นี่คือคอนเซ็ปท์การใช้ชีวิตของผม อย่างเงินผมได้มาหลายร้อยล้านบาท ผมมี 500 ล้าน หรือมี 1 พันล้านบาทวันนี้ สำหรับผมมันไม่ได้ต่างกัน มันก็แค่ตัวเลข ยังไง! ผมก็ใช้ไม่หมด ทุกวันนี้ส่วนตัวใช้เงินแค่ 1-2 หมื่นบาทต่อเดือนเท่านั้น" เงินที่หามาได้ ส่วนหนึ่งหมอจะแบ่งไปทำบุญ "ตอนนี้ผมเอาไปทำบุญกับมูลนิธิสัตว์ ซื้ออาหารเลี้ยงหมา แมวจรจัดเดือนละ 1 แสนบาท ผ่านมูลนิธิของพี่สาวผม อีกส่วนหนึ่งก็ตั้งเป็นกองทุนการศึกษาให้กับเด็ก "สถาบันราชภัฏ" เป็นกองทุนประมาณ 5 แสนบาท ถ้าหมดก็ให้มาขอ คือ ถ้าผมทำอะไรเพื่อสังคมได้ ผมก็ทำ มันก็เป็นความสุขอีกอันหนึ่ง" หมอกล่าวว่าทุกวันนี้ไม่เคยคิดว่า การเล่นหุ้นเป็นการหาเงิน "ผมไม่เคยมีเป้าหมายว่าจะต้องได้เงินเท่าไร? แต่ผมคิดว่าการเล่นหุ้นมันเป็นความสุข มันท้าทาย...วันนี้ถ้าผมลงทุนผิด ผมจะต้องไปนอนคิดว่าทำไม! มันถึงผิด" ความฝันของหมอคือ เป็นเจ้าของ "โบรกเกอร์" อยากใช้เวทีนี้ให้ความรู้กับนักเล่นหุ้น "ผมตั้งใจมานานแล้ว" ก่อนหน้านี้เคยยื่นประมูล บล.ธนสยาม กับ บล.วชิระ ซิเคียวริตี้ส์ แล้วไม่ได้ จึงเข้ามาเป็นพันธมิตรกับ บล.ยูไนเต็ด "ใจของผมคืออยากเผยแพร่วิธีการเล่นหุ้นว่าทำไม! ผมถึงเล่นหุ้นแล้วได้กำไร" "จริงๆ แล้วตอนนี้ผมมองเงินเป็นแค่วัตถุอย่างหนึ่ง ผมไม่ได้นอนนับเงินแล้วมีความสุข เดี๋ยวนี้มีหลายร้อยล้านผมก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม ยังใส่รองเท้าแตะมาเล่นหุ้นทุกวัน เงินสำหรับผมมันก็เป็นแค่ตัวเลขทางบัญชีเท่านั้นเอง" เขากล่าว ทั้งหมดนี้คือ ตัวตนที่แท้จริงของ"น.พ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม" ผู้ร่ำรวยมาจากการเล่นหุ้น แต่เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เคยคิดกอบโกยความสุขจากเงินที่หามาได้

เข้าสู่ยุคเก็บเกี่ยว

เข้าสู่ยุคเก็บเกี่ยว
ในปี 2534 หลังจากตลาดเริ่มนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้แทนการเคาะกระดานซื้อขาย พอร์ตของหมอก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลังประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 "พอประกาศลดค่าเงิน ผมมองว่าฝรั่งจะเข้ามา เพราะมันเป็นตรรกะเลยว่าถ้าเงิน 1 ดอลลาร์เคยแลกได้ 25 บาท แล้วจู่ๆ 1 ดอลลาร์แลกได้ 50 บาท ต้องมีเงินไหลเข้ามา ผมฟันธงว่ายังไง ! หุ้นต้องขึ้น ผมก็มาประเมินว่าถ้าฝรั่งเข้าต้องเล่นแบงก์ใหญ่ ผมก็เข้าเก็บหุ้นกสิกรไทย หุ้นแบงก์กรุงเทพ และวอร์แรนท์กสิกรไทย เพราะผมมองว่าถ้าหุ้นแม่ขึ้นวอร์แรนท์ก็ต้องขึ้น ตอนนั้นผมได้กำไรมาเยอะมาก" หลังจากนั้นพอร์ตของหมอก็โตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อจับจุดได้ว่าฝรั่งชอบซื้อหุ้นตอนต้นปี ฉะนั้นปลายเดือนธันวาคม จะซื้อหุ้นเก็บไว้ก่อน "จากประสบการณ์ส่วนใหญ่ต้นปีหุ้นจะขึ้น สมัยก่อนเล่นหุ้นง่ายมาก เงินฝรั่งเข้ามาวันละ 3-4 พันล้านบาท หุ้นตัวไหนขึ้นแรงๆ นั่นแหละฝรั่งซื้อ เราก็เกาะฝรั่ง เวลาเขาเหนื่อยแรงเราก็ขายออก ตอนนั้นเวลาฝรั่งเข้าจะซื้อติดต่อกันเป็นอาทิตย์ พอเราซื้อเสร็จเราก็ถือไปเรื่อยๆ ผมจะจับตามองตลอดเวลา ถ้าฝรั่งเริ่มไม่ซื้อผมก็หาจังหวะขายออก ผมเล่นหุ้นอย่างนี้บางอาทิตย์ได้กำไร 40-50% " หมอบอกว่า ณ เวลานั้นมองกลไกตลาดออกว่าคนนำตลาด คือ "ฝรั่ง" จึงเล่นหุ้นตามฝรั่ง แต่ตอนนี้กลไกที่นำตลาดคือ คนไทย "ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ผมดีมาตลอดเพราะวิธีจำกัดความเสี่ยงของผมถูก อีกอย่างหนึ่งผมจะเล่นหุ้นเป็นจังหวะ ผมจะเหมือนกับเหยี่ยวที่บินมาโฉบเหยื่อแล้วก็บินไป รอจังหวะมาโฉบเหยื่ออีกครั้ง ผมจะลงไปเฉพาะชัวร์ๆ เมื่อไรที่ผมไม่แน่ใจจะหยุดดู และถอนการลงทุน" ทุกวันนี้น.พ.ยรรยงกล้าพูดว่าเขาเล่นหุ้นเก่งกว่าฝรั่ง ซึ่งเขามองว่าวิธีการเล่นหุ้นของฝรั่งค่อนข้างหมู "แค่ผมเกาะฝรั่งไปเรื่อยๆ ผมแทบไม่มีความเสี่ยงเลย ผมจะถือคติว่าเข้าพร้อมฝรั่ง แต่ออกก่อนฝรั่ง" ทำ Arbitrage ทุกครั้งที่มีโอกาส ความเป็นนักแสวงหาโอกาสของหมอยังฉายแววโดดเด่น เมื่อเขาใช้วิธีทำ Arbitrage หรือ การทำกำไรจากสองตลาด ด้วยการเข้าประมูลหุ้นของ ปรส.นอกตลาด แล้วนำมาขายในตลาด ได้กำไรจากส่วนต่างราคา "Discount" 20% โดยไม่มีความเสี่ยงใดๆ เลย "ตอนนั้นทุกวันศุกร์ ปรส.จะนำหุ้นออกมาประมูล ตัวแรกที่ประมูลคือ หุ้น S-ONE จำได้ว่าในกระดานราคา 7 บาท ผมใส่ซองประมูล 5.50 บาท กลยุทธ์ของผมจะตั้งราคา Discount 20% ประมูลไปตามกำลังเงิน 7 ล้านหุ้น 10 ล้านหุ้น พอเราได้หุ้นวันจันทร์ผมก็ขาย เวลาแค่เสาร์-อาทิตย์ ยังไงก็จำกัดความเสี่ยงได้อยู่แล้ว ผมถามว่าความเสี่ยงอยู่ตรงไหน!...ไม่มีเลย แต่ไม่เห็นมีใครมาประมูลแข่ง" หมอเล่าว่า "มีประมูลทุกศุกร์ ผมก็ได้เงินทุกศุกร์ ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไม! ไม่มีคนซื้อ ซึ่งตอนนั้นผมก็ได้ของดีไปหมดแล้ว ตอนหลังเหลือแต่หุ้นที่ไม่ค่อยมีสภาพคล่องแต่ผมก็ยังประมูลเพราะเห็นว่าราคามันถูก" หลังจากนั้นเขาก็ยังทำกำไรจากหุ้นที่ถูกทำ "เทนเดอร์ออฟเฟอร์" อีกหลายครั้ง ด้วยวิธี Arbitrage เหมือนเดิม "ตัวที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุดคือ GSS เขาทำเทนเดอร์ฯในราคา 155 บาท ณ วันที่ประกาศมีราคา Discount อยู่ 25% ภายในระยะเวลา 3 เดือนผมได้ผลตอบแทนชัวร์ๆ 25% โดยไม่มีความเสี่ยง....แล้วทำไม! ผมจะไม่ลงทุน" ขาดทุน 30 ล้านบาท มากที่สุดในชีวิต ในวงการค้าหุ้นบางคนอาจจะมองเขาว่าเป็น "นักฉวยโอกาส" แต่หมอมองตัวเองว่าเป็น" นักแสวงหาโอกาส" มากกว่า ทุกเช้าหมอจะตื่นเช้ากว่าปกติเพื่อให้เวลากับการนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจ และเลือกหุ้นตัวที่เชื่อว่านักเล่นหุ้นจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ แต่หมอจะไม่ค่อยใส่ใจกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคมากนัก แต่จะให้ความสนใจกับหุ้นที่มี "ข่าวดี" มากกว่า โดยปกติเขาจะไม่เคยหัวเสียเมื่อหุ้นตก เพราะหมอบอกว่าเวลาหุ้นตก....ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยมีหุ้น! "ผมจะหัวเสียมากที่สุด ตอนที่เรารู้สึกว่าตัวเองโง่มากกว่า" มีเรื่องโง่อมตะที่หมอชอบเล่าให้ใครฟังบ่อยๆ " ตอนซื้อหุ้น FAS(บล.เอกเอเซีย ขณะนั้นมี กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นกรรมการผู้จัดการ) เป็นความโง่ที่ผมประทับใจที่สุด คือ โง่เพราะอ่านภาษาอังกฤษผิด ข้อแรก ผมเข้าใจว่าให้เอา 2 หุ้น FAS ไปแปลงเป็น 1 หุ้น S-ONE ข้อสอง สามารถแลกเป็นเงินได้ในราคา 280 บาท ผมก็คิดว่าข้อที่ 1 กับข้อที่ 2 ทำแบบไหนก็ได้ กะว่าจะทำ "Arbitrage" ผมซื้อไปประมาณ 100 กว่าล้านบาท ตอนนั้นหุ้น FAS ตกไป 25% ผมขาดทุนไป 30 ล้าน มากที่สุดในชีวิต ผมก็คิดว่าทำไม! หุ้นมันถึงตกทุกวัน เราก็ไปโทษคนอื่นว่าทำไม! มันโง่จังว่ะ หุ้นตกแล้วไม่ซื้อ...กำไรเห็นๆ ที่ไหนได้พอโทรศัพท์ไปถามที่ S-ONE เขาบอกว่าคุณอ่านภาษาอังกฤษผิด งานนั้นผมบอกตัวเองว่าโอโห้!...เราโคตรโง่เลยว่ะ"

ค้นพบทฤษฎี "จำกัดความเสี่ยง"

ค้นพบทฤษฎี "จำกัดความเสี่ยง"
วิกฤติตลาดหุ้นในปี 2533 คือ บททดสอบแรกของหมอ หมอยังจำได้ว่าวันที่อิรักบุกคูเวต ( 2 สิงหาคม 2533) หมอตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดออกจากพอร์ต เพื่อลดความเสี่ยง เหตุการณ์ครั้งนั้นหมอได้ค้นพบหลักการลงทุนที่เรียกว่า "ทฤษฎีจำกัดความเสี่ยง" ซึ่งได้เปลี่ยนวิธีลงทุนของเขาอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่บัดนั้น หลักคิดของมัน ก็คือ "อะไรที่คุณไม่รู้คือความเสี่ยง อะไรที่คุณรู้คือไม่เสี่ยง" นี่คือหัวใจของการจำกัดความเสี่ยง "ตอนนั้นผมยังเล่นหุ้นไม่เยอะ อยู่ในช่วงของการเรียนรู้ พอร์ตของผมตอนนั้นประมาณ 1-2 ล้านบาท ช่วงนั้นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุด ก็คือ "ความระมัดระวัง" เพราะผมเห็นคนล้มตายเยอะ ทุกคนที่เจ๊งหุ้นเหมือนกัน คือ ไม่ยอม "Stop Loss" ทำให้ผมเข้าใจว่าถ้าเราจะอยู่ในวงการนี้ได้นาน เราต้องรู้จักวิธีจำกัดความเสี่ยง" วิธีการของหมอคือ พยายามทำให้ความเสี่ยงเป็น "ศูนย์" โดยวิธีเล่นหุ้นขาขึ้น หยุดเล่นหุ้นขาลง และต้องชิงตัดขาดทุน (Cut Loss)เสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ตัวเลขขาดทุนจะบานปลาย "ตอนที่อิรักบุกผมไม่มีหุ้นเลย สมมติว่าวันนี้หุ้นขึ้นผมจะเล่น แต่ถ้าหุ้นลงผมจะหยุดเล่น ผมก็เลยขาดทุนน้อย แต่คนที่คิดว่าพรุ่งนี้จะดีดกลับ ส่วนใหญ่จะเจ๊ง" หมอบอกว่าปรัชญาการจำกัดความเสี่ยง "อะไรที่ผมไม่รู้ ผมไม่เล่น" "เราไม่รู้ว่าสงครามจะยืดเยื้อแค่ไหน สิ่งที่เราไม่รู้ คือความเสี่ยง ดังนั้นจึงเลือกตัดนิ้วทิ้ง 1 นิ้วดีกว่าจะต้องเสียทั้ง 5 นิ้ว เพราะอย่างน้อยก็รู้ว่ายังเหลืออีก 4 นิ้วชัวร์ๆ ถ้าไม่ยอมตัดทิ้ง จะไม่มีทางรู้เลยว่าจะต้องเสียอีกกี่นิ้ว" นี่คือวิธีคิดของเขา แต่หมอก็มาพลาดจนได้เมื่อ "ซัสดัม ฮุสเซ็น" ประกาศจะยอมแพ้ หมอรีบเข้าไปซื้อหุ้นเข้าพอร์ต เพราะเก็งว่าวันที่ซัสดัมประกาศยอมแพ้หุ้นจะดีดกลับ แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร "ทีแรกซัสดัมบอกว่าจะยอมแพ้ จู่ๆ ออกมาบอกใหม่ว่าไม่ยอมแพ้แล้ว หุ้นก็ตก ผมก็ขาย โดยปกติถ้าขาดทุนเกิน 5% ผมจะขาย ก็เลยหุ้นซื้อแพง ขายถูกอยู่ 3-4 ครั้ง ก็กลับมาคิดว่า เล่นอย่างนี้เราเจ๊ง ต้องหยุดเล่น และถอยออกมาตั้งหลัก" หมอบอกว่า การยอมรับข้อผิดพลาดทำให้เขาค่อยๆพัฒนาวิธีเล่นหุ้นขึ้นมาเป็นลำดับ "การเล่นหุ้นโดยส่วนใหญ่มันมีโง่มีฉลาดเป็นเรื่องปกติ แต่คนที่จะประสบความสำเร็จกับหุ้นอย่าคิดว่าตัวเองฉลาด เพราะตราบใดที่เราคิดว่าตัวเองฉลาดจะไม่พัฒนา แต่ทุกครั้งที่เรายอมรับข้อผิดพลาดเราก็จะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ" หมอยึดถือความผิดพลาดเป็น "ครู" มาตลอด

คุณหมอนักเล่นหุ้น

คุณหมอนักเล่นหุ้น
ชื่อของน.พ.ยรรยง พันธุ์วงศ์กล่อม โด่งดังขึ้นมาในราวต้นปี 2545 หลังจากที่เขาเข้ากว้านซื้อหุ้น บล.ซีมิโก้ จำนวน 5.095 ล้านหุ้น จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 10.87% และใช้เวลาเพียงวันเดียวขายหุ้นทั้งหมดออกจากพอร์ต จากนั้นชื่อของน.พ.ยรรยง ก็ถูกดึงเข้าไปพัวพันกับสร้างราคาหุ้นของหลายบริษัท กระทั่งมีข่าวอีกว่าหมอใช้ "นอมินี" เข้าซื้อหุ้น บล.ยูไนเต็ด ร่วมกับ นายสมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล หรือ "เสี่ยปู่" และเพื่อนร่วมก๊วนจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 14% ในโบรกเกอร์แห่งนี้ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนในแวดวงตลาดหุ้นตั้งคำถามว่า ชายผู้นี้เป็นใคร?...มาจากไหน? นักเลงหุ้นคนนี้มีความน่าสนใจมากกว่าการเป็นแค่ "นักเสี่ยงโชค" น.พ.ยรรยงเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นเมื่อปี 2532 ขณะที่ดัชนีประมาณ 600 จุด เคยผ่านวิกฤตการณ์ซัสดัมเมื่อปี 2533 ผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 เคยผ่านยุคที่ตลาดหุ้นบูมสุดๆ เกือบ 1,800 จุด เมื่อต้นปี 2537 เคยผ่านเหตุการณ์ลอยตัวของค่าเงินบาท ปี 2540 และผ่านยุคตกต่ำที่สุดของตลาดหุ้นตอนดัชนีลงมาเหลือ 200 จุด เมื่อปี 2541 ไม่เพียงหมอรอดมาได้เท่านั้น แต่พอร์ตของเขากลับขยายเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ในยุคที่อิรักบุกคูเวตเมื่อปี 2533 น.พ.ยรรยงมีพอร์ตเล่นหุ้นเพียงแค่ 1-2 ล้านบาท เท่านั้น แต่วันนี้พอร์ตของหมอมีมูลค่าเฉียดพันล้านบาท หมอบอกว่า ปัจจุบันเขาซื้อขายหุ้นเฉลี่ยเดือนละ 1,000 ล้านบาท หรือปีละกว่า 10,000 ล้านบาท เริ่มลงทุนด้วยเงิน 5 แสนบาท เรียนจบทันตแพทย์จากรั้วมหิดลใน ปี 2525 และกลายเป็นหมอฟันเด็กที่มีอนาคตรุ่งโรจน์คนหนึ่งของวงการ โดยเริ่มต้นอาชีพหมอฟันด้วยการร่วมทุนกับเพื่อนเปิดคลินิกแถวถนนเทเวศน์ ขณะนั้นหมอมีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2 แสนบาท แต่หมอกลับคิดว่า "อาชีพหมอฟันไม่รวย แค่พอกินพอใช้เท่านั้น" หมอเล่าว่าเริ่มเข้าสู่ตลาดหุ้นเมื่อปี 2532 ขณะที่มีอายุประมาณ 31-32 ปี สมัยนั้นตลาดหุ้นเปิดครึ่งวันเช้า ช่วงเช้าหมอจะไปเล่นหุ้นช่วงบ่ายก็กลับคลินิก หมอทำอย่างนี้ประมาณ 3-4 ปี ก็ค้นพบว่าการเล่นหุ้นเป็นสิ่งที่ท้าทายกว่าอาชีพหมอฟัน เพราะโลกของหมออยู่แต่ภายในห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ตั้งแต่เช้ายันเย็น "ผมชอบเล่นหมากรุก การเล่นหุ้นก็เหมือนการเดินหมาก ต้องใช้ความคิดตลอดเวลา ก็เลยตัดสินใจทิ้งอาชีพหมอฟันมาเล่นหุ้น ทั้งที่ตอนนั้นรายได้จากการเล่นหุ้นน้อยกว่ารายได้จากการทำฟัน" หมอเล่าให้ฟัง "ตอนที่เริ่มสตาร์ทผมลงเงินไป 500,000 บาท ตอนนั้นเลือกหุ้นที่คิดว่ามี "ราคาถูก" ผมจะซื้อหุ้นที่ราคาตกลงมามากๆ เลือกหุ้นที่มีพี/อี เรโชต่ำ และซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าพาร์ เพราะเราคิดว่าราคาถูก" นั่นคือสิ่งที่หมอบอกว่า เขาเริ่มต้นเล่นหุ้นจากที่ไม่มีความรู้อะไรเลย ประสบการณ์เล่นหุ้นช่วงแรกๆ จึงไม่ราบลื่น สิ่งที่หมอคิดว่า "ราคาถูก" และ "ปลอดภัย" กลับตรงกันข้าม เล่นช่วงแรกเจ๊งมาตลอดจนเหลือเงินอยู่ 180,000 บาท สุดท้ายต้องกลับมาทบทวนใหม่แล้วค่อยๆ เรียนรู้ ถ้ามัวแต่ยึดข้อมูลในอดีต สักวันคงหมดตัวแน่!!!" ตามความเห็นของหมอ หุ้นเป็น "Dynamic" ฉะนั้น 1+1 ในตลาดหุ้นไม่จำเป็นต้องได้ผลลัพธ์เท่ากับ 2 เสมอไป ทฤษฎีการลงทุนบางครั้งก็ใช้ไม่ได้ แต่ต้องให้ประสบการณ์เป็น "ครู" "ผมก็กลับมาทบทวนดูว่า ต้องเปลี่ยนวิธีเล่นใหม่ ก็ตั้งเป็นเกณฑ์ว่า เมื่อไรที่เราเล่นหุ้นมีกำไร นั่นแหละวิธีการที่ถูก เมื่อใดที่เราเล่นหุ้นขาดทุนนั่นแหละวิธีการที่ผิด" เขาจึงได้บทสรุปว่า "จงทำตามแนวโน้มตลาด" อย่าฝืนเอาชนะ ดังนั้นกฎข้อแรกที่หมอได้เรียนรู้ ก็คือ "หุ้นยิ่งขึ้นต้องยิ่งซื้อ หุ้นยิ่งตกต้องยิ่งขาย" เขาเชื่อในตรรกะที่ว่า "ในสวรรค์ยังมีสวรรค์ ในนรกยังมีนรก" ทำให้เขาค้นพบว่าวิธีการเล่นหุ้นที่ดีที่สุดต้องเล่นหุ้น "ตามกระแส" จึงอยู่รอดในวงการนี้

วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551

เมื่อมีอาการซึมเศร้าเพราะไม่มีเงิน

เมื่อยามที่เราไม่มีเงิน เราจะมีอาการเศร้าได้อย่างง่าย ๆ รู้สึกเบื่อไปหมด ไม่อยากพบหน้าใคร ไม่อยากไปอยู่ในแวดวงของเพื่อนสนิทมิตรสหาย หรือแม้แต่ญาติพี่น้อง และหากเป็นหนักขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะเกิดอาการของโรคซึมเศร้าได้ง่าย ๆ ในที่สุดเราก็จะท้อแท้สิ้นหวัง และหาทางกล่าวโทษโชคชะตา ดินฟ้าอากาศไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ได้มองที่ตัวเองเลยว่า ที่เราต้องมานั่งเบื่อหน่าย เศร้า และเป็นทุกข์อย่างนี้เพราะอะไรกัน
พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงอริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรจ มรรค หมายถึง ทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่มีสาเหตุและที่มาที่ไปทั้งสิ้น ซึ่งมักจะ "เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และท้ายที่สุดก็จะดับไป" เป็นวัฎจักรของทุกสิ่ง ดังนั้นเมื่อเราทุกข์ ลองพิจารณาไปถึงต้นเหตุของทุกข์ดูให้ดี แล้วจะพบว่าหลาย ๆ เหตุแห่งความทุกข์นั้น เกิดขึ้นเพราะเราไม่มีเงินมากพอสำหรับความอยากมี อยากได้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดของคนเรา
ที่มาของความเศร้าและอาการเบื่อของคนปกติทั่วไปมีอยู่หลายสาเหตุ แต่ที่เป็นสาเหตุสำคัญก็คือ "การมีเงินไม่พอใช้จ่าย" หรือ "มีเงินแล้วใช้มากกว่าที่หาได้" นับได้ว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดทุกข์นั่นเอง
มีบ้างที่บอกว่า "พอ" แล้ว แต่อีกหลายคนกลับบอกว่า "เท่าไหร่ก็ไม่เห็นพอ" การทำงานเพื่อให้ได้เงินมาแต่ละบาทไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เชื่อลองไปหาบขนมขายดู คนไม่เคยทำก็จะเจ็บไหล่ ปวดขา และอีกสารพัดอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ที่สำคัญแล้วเราจะได้พบกับความจริงที่ว่า เมื่อเราเป็นคนขายของบ้าง ไม่เห็นคนอื่นเค้าจะซื้อของง่าย ๆ แบบเราเลย เห็นปุ๊บ ซื้อปั๊บ ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า ในที่สุดก็จะมีเงินไม่พอใช้ให้ถึงวันสิ้นเดือน และเป็นต้นเหตุให้เราทุกข์และเบื่อหน่าย


เมื่อคิดได้เช่นนี้ เราจึงควรไตร่ตรองให้ดี ๆ ว่า เมื่อเรามีเงิน เราควรเก็บเงินอย่างไร และใช้จ่ายอย่างไร นึกไว้ตลอดเวลาว่า กว่าเราจะได้เงินเดือน หรือผลตอบแทนจากการลงทุนใด ๆ ก็ตาม เราจะต้องเหนื่อยยาก ทำงานถึงจะได้เงินมา เมื่อเรามีงานทำจึงถือว่าโชคดี และโอกาสยังเป็นของเรา ยังดีกว่าคนอื่นอีกจำนวนมากที่ไม่มีแม้แต่โอกาส ดังนั้นพึงจะรักษางานของเราเอาไว้ด้วยการทำงานในหน้าที่ให้เต็มที่ ให้ได้ผลงานที่ดีที่สุดตลอดเวลา และเมื่อเราทำงานเต็มที่ ได้เงินเดือนมาก็ควรใช้ และออมเพื่อตัวเราเองด้วย
ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่จะให้พึ่งพาไปได้ตลอด ตัวเราเองเท่านั้นที่จะทำให้เรามั่นคงแข็งแรง และเมื่อได้รู้เช่นนี้ เราจะไม่คิดวางแผนการเงินของเราเลยหรือ ลองตั้งเป้าหมายของการออมเงิน แล้วลงมือจดบันทึกรายวัน รายจ่ายของเราเป็นรายวัน พร้อมทั้งมีวินัยในการออมเงินให้ได้เป็นประจำ หากเริ่มต้นทำได้เช่นนี้ก็จะได้ชื่อว่าเป็นคน "มีเงิน" เมื่อมีเงินก็จะมีจิตใจที่เบิกบานพร้อมที่จะศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหารเงินออมของเราให้งอกเงยอย่างมีสติ
ซึ่งเมื่อเรามีเงิน มีข้อมูลเพียงพอแล้ว เราก็จะได้ก้าวไปสู่ชั้นของการตัดสินใจที่ถูกต้อง เหมาะสมกับตัวเราเอง ในการนำเงินไปลงทุนให้เกิดดอกผลตามที่เราต้องการ โดยตัวเราสามารถเข้าใจและรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนั้น ๆ ได้เยี่ยงมืออาชีพ "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" ยังคงใช้ได้จนถึงปัจจุบัน

เคล็ดลับการออมเงิน

จะกล่าวไป เรามักจะไม่สามารถเก็บเงินออมกันเลย ก็เป็นเพราะเอาแต่ใช้เงินที่ได้มาแบบไม่คิดถึงวันหน้า
มีเท่าไหร่ก็ใช้ไปเรื่อย ๆ จึงเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ เพื่อจะได้มีแนวทางเก็บออม และวิธีใช้จ่ายเงินอย่างฉลาด โดยเสนอหลากหลายการออมเงิน จะได้ ร่ำรวย เพื่ออนาคต เมื่อเกษียณ หรือลาออกจากงาน

หลักการออมเงิน

คือ เงินที่ได้มาทุก ๆ ครั้ง ต้องมีการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน หลัก ๆ เสมอ ได้แก่

ส่วนที่ 1 เอาไว้ใช้จ่ายประจำวัน

ส่วนที่ 2 เอาไว้ออมให้เป็นเงินก้อน เพื่อการซื้อของที่มีราคาสูง

ส่วนที่ 3 เพื่อเป็นการลงทุนในระยะยาวต่อไป

สูตรคำนวณหาเงินออม

คือ เงินออมที่ควรมีในปัจจุบัน เท่ากับ 1/10 คูณ อายุ คูณ รายได้ทั้งปี


ตัวอย่าง เช่น
ถ้ามีอายุ 30 ปี ทำงานได้เงินเดือน เดือนละ 10,000 บาท รายได้ทั้งปี เท่ากับ 1.2 แสนบาท

ดังนั้น ควรมีเงินออมเท่ากับ 1/10 คูณ 30 คูณ 1.2 แสนบาท เท่ากับ 3.6 แสนบาท

สำหรับวิธีการออมเงินอย่างง่าย ๆ นั่น คือ
"การออมเงินแบบเพิ่ิมสิบ - ลบสิบ"

วิธีการออมเงินแบบ "เพิ่มสิบ"

คืือ เมื่อไรก็ตามที่ใช้เงินออกไป ก็ให้บวกยอดเงินเพิ่มเข้าไปอีก 10% ซึ่งส่วนที่บวกเพิ่มนั้นก็ให้กันไว้เป็นเงินเก็บ

ตัวอย่าง เช่น

ถ้าต้องการจ่ายเงิน 1 พันบาทเป็นค่าเช่าบ้าน ก็ต้องกันเงินออกมาอีก 100 บาท เพื่อไปฝากธนาคารไว้
หรือถ้าวันนี้ได้ออกไปซื้อของใช้ 100 บาท ก็ต้องกันเงินไว้ 10 บาท เพื่อไปใส่บัญชีเงินออม



สำหรับวิธีการนี้ จะต้องทำไปเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะใช้จ่ายเงินไปมากน้อยเท่าไร่ก็ตาม
และถ้ามีความแน่วแน่ด้วย หลักการ "เพิ่มสิบ" อยู่เสมอแล้ว ก็สามารถทำให้เป็นผู้ประสบความสำเร็จในการเก็บเงินได้ เพราะวิธีนี้จะเป็นการบังคับให้ต้องคิดเสมอก่อนที่ควักเงินออกไปจ่าย ว่าต้องเก็บเงินเพิ่มทุกครั้งที่ใช้เงินเพิ่มขึ้นด้วย และด้วยวิธีนี้ก็จะทำให้เราระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น



แต่สำหรับบางคนที่ใช้เงินเก่ง และหักห้ามใจในการใช้จ่ายไม่ค่อยอยู่ ลองมาพิจารณาหลักการ "ลบสิบ" ดูบ้าง
วิธีการออมเงินแบบ "ลบสิบ"


คือ การหักเงิน 10% ของเงินเดือนทุกเดือน โดยทันทีที่เงินเดือนออกทุกสิ้นเดือน ก็ให้รีบนำเงินไปฝากธนาคารไว้
วิธีนี้ก็จะช่วยให้สามารถเก็บเงินได้ 10% ของเงินเดือนก่อนที่จะถูกใช้ไป

ตัวอย่าง เช่น

เมื่อได้รับเงินเดือน 1 หมื่นบาท ก็ให้นำไปฝากธนาคาร 1 พันบาททันที แต่ถ้ากลัวว่าจะหักเงินด้วยตัวเองไม่ได้
ก็อาจจะต้องแจ้งให้ธนาคารหรือหน่วยงานที่สังกัดโอนเงินจำนวน 1 พันบาทนั้นไปเก็บไว้ในบัญชีหนึ่งทันทีที่เงินเดือนออก ก็จะทำให้มีเงินเก็บได้อีก 1 พันบาท และก็จะมีเงินเหลือใช้จ่ายอีกถึง 9 พันบาท

อย่างไรก็ตาม จะต้องไม่ลืมว่า 10% ของเงินเดือนที่หักไปเก็บไว้นั้น ไ่ม่ใช่เงินที่เ็ก็บไว้สำหรับฉุกเฉิน หรือ
เพื่อการใช้ในการท่องเที่ยว แต่เป็นเงินที่เก็บไว้ใช้ในอนาคต เวลาที่ไม่ได้ทำงานหรือเกษียณไปแล้ว ดังนั้น จึงต้องไม่ถอนเงินจำนวนนี้ออกมาใช้ก่อนกำหนด

วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ทักทาย

หวัดดีครับเพื่อนๆทุกคน เว็บบล็อกแห่งนี้ขอต้อนรับทุกท่านที่แวะมาเยี่ยมชม เนื้อหาอาจจะยังไม่มีอะไรมากเพราะเพิ่งเริ่มต้น แค่นี้ก่อนนะครับ สบายดี