วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ค้นพบทฤษฎี "จำกัดความเสี่ยง"

ค้นพบทฤษฎี "จำกัดความเสี่ยง"
วิกฤติตลาดหุ้นในปี 2533 คือ บททดสอบแรกของหมอ หมอยังจำได้ว่าวันที่อิรักบุกคูเวต ( 2 สิงหาคม 2533) หมอตัดสินใจขายหุ้นทั้งหมดออกจากพอร์ต เพื่อลดความเสี่ยง เหตุการณ์ครั้งนั้นหมอได้ค้นพบหลักการลงทุนที่เรียกว่า "ทฤษฎีจำกัดความเสี่ยง" ซึ่งได้เปลี่ยนวิธีลงทุนของเขาอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่บัดนั้น หลักคิดของมัน ก็คือ "อะไรที่คุณไม่รู้คือความเสี่ยง อะไรที่คุณรู้คือไม่เสี่ยง" นี่คือหัวใจของการจำกัดความเสี่ยง "ตอนนั้นผมยังเล่นหุ้นไม่เยอะ อยู่ในช่วงของการเรียนรู้ พอร์ตของผมตอนนั้นประมาณ 1-2 ล้านบาท ช่วงนั้นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุด ก็คือ "ความระมัดระวัง" เพราะผมเห็นคนล้มตายเยอะ ทุกคนที่เจ๊งหุ้นเหมือนกัน คือ ไม่ยอม "Stop Loss" ทำให้ผมเข้าใจว่าถ้าเราจะอยู่ในวงการนี้ได้นาน เราต้องรู้จักวิธีจำกัดความเสี่ยง" วิธีการของหมอคือ พยายามทำให้ความเสี่ยงเป็น "ศูนย์" โดยวิธีเล่นหุ้นขาขึ้น หยุดเล่นหุ้นขาลง และต้องชิงตัดขาดทุน (Cut Loss)เสียแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ตัวเลขขาดทุนจะบานปลาย "ตอนที่อิรักบุกผมไม่มีหุ้นเลย สมมติว่าวันนี้หุ้นขึ้นผมจะเล่น แต่ถ้าหุ้นลงผมจะหยุดเล่น ผมก็เลยขาดทุนน้อย แต่คนที่คิดว่าพรุ่งนี้จะดีดกลับ ส่วนใหญ่จะเจ๊ง" หมอบอกว่าปรัชญาการจำกัดความเสี่ยง "อะไรที่ผมไม่รู้ ผมไม่เล่น" "เราไม่รู้ว่าสงครามจะยืดเยื้อแค่ไหน สิ่งที่เราไม่รู้ คือความเสี่ยง ดังนั้นจึงเลือกตัดนิ้วทิ้ง 1 นิ้วดีกว่าจะต้องเสียทั้ง 5 นิ้ว เพราะอย่างน้อยก็รู้ว่ายังเหลืออีก 4 นิ้วชัวร์ๆ ถ้าไม่ยอมตัดทิ้ง จะไม่มีทางรู้เลยว่าจะต้องเสียอีกกี่นิ้ว" นี่คือวิธีคิดของเขา แต่หมอก็มาพลาดจนได้เมื่อ "ซัสดัม ฮุสเซ็น" ประกาศจะยอมแพ้ หมอรีบเข้าไปซื้อหุ้นเข้าพอร์ต เพราะเก็งว่าวันที่ซัสดัมประกาศยอมแพ้หุ้นจะดีดกลับ แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร "ทีแรกซัสดัมบอกว่าจะยอมแพ้ จู่ๆ ออกมาบอกใหม่ว่าไม่ยอมแพ้แล้ว หุ้นก็ตก ผมก็ขาย โดยปกติถ้าขาดทุนเกิน 5% ผมจะขาย ก็เลยหุ้นซื้อแพง ขายถูกอยู่ 3-4 ครั้ง ก็กลับมาคิดว่า เล่นอย่างนี้เราเจ๊ง ต้องหยุดเล่น และถอยออกมาตั้งหลัก" หมอบอกว่า การยอมรับข้อผิดพลาดทำให้เขาค่อยๆพัฒนาวิธีเล่นหุ้นขึ้นมาเป็นลำดับ "การเล่นหุ้นโดยส่วนใหญ่มันมีโง่มีฉลาดเป็นเรื่องปกติ แต่คนที่จะประสบความสำเร็จกับหุ้นอย่าคิดว่าตัวเองฉลาด เพราะตราบใดที่เราคิดว่าตัวเองฉลาดจะไม่พัฒนา แต่ทุกครั้งที่เรายอมรับข้อผิดพลาดเราก็จะฉลาดขึ้นเรื่อยๆ" หมอยึดถือความผิดพลาดเป็น "ครู" มาตลอด

ไม่มีความคิดเห็น: