เข้าสู่ยุคเก็บเกี่ยว
ในปี 2534 หลังจากตลาดเริ่มนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้แทนการเคาะกระดานซื้อขาย พอร์ตของหมอก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ แต่จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นหลังประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 "พอประกาศลดค่าเงิน ผมมองว่าฝรั่งจะเข้ามา เพราะมันเป็นตรรกะเลยว่าถ้าเงิน 1 ดอลลาร์เคยแลกได้ 25 บาท แล้วจู่ๆ 1 ดอลลาร์แลกได้ 50 บาท ต้องมีเงินไหลเข้ามา ผมฟันธงว่ายังไง ! หุ้นต้องขึ้น ผมก็มาประเมินว่าถ้าฝรั่งเข้าต้องเล่นแบงก์ใหญ่ ผมก็เข้าเก็บหุ้นกสิกรไทย หุ้นแบงก์กรุงเทพ และวอร์แรนท์กสิกรไทย เพราะผมมองว่าถ้าหุ้นแม่ขึ้นวอร์แรนท์ก็ต้องขึ้น ตอนนั้นผมได้กำไรมาเยอะมาก" หลังจากนั้นพอร์ตของหมอก็โตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อจับจุดได้ว่าฝรั่งชอบซื้อหุ้นตอนต้นปี ฉะนั้นปลายเดือนธันวาคม จะซื้อหุ้นเก็บไว้ก่อน "จากประสบการณ์ส่วนใหญ่ต้นปีหุ้นจะขึ้น สมัยก่อนเล่นหุ้นง่ายมาก เงินฝรั่งเข้ามาวันละ 3-4 พันล้านบาท หุ้นตัวไหนขึ้นแรงๆ นั่นแหละฝรั่งซื้อ เราก็เกาะฝรั่ง เวลาเขาเหนื่อยแรงเราก็ขายออก ตอนนั้นเวลาฝรั่งเข้าจะซื้อติดต่อกันเป็นอาทิตย์ พอเราซื้อเสร็จเราก็ถือไปเรื่อยๆ ผมจะจับตามองตลอดเวลา ถ้าฝรั่งเริ่มไม่ซื้อผมก็หาจังหวะขายออก ผมเล่นหุ้นอย่างนี้บางอาทิตย์ได้กำไร 40-50% " หมอบอกว่า ณ เวลานั้นมองกลไกตลาดออกว่าคนนำตลาด คือ "ฝรั่ง" จึงเล่นหุ้นตามฝรั่ง แต่ตอนนี้กลไกที่นำตลาดคือ คนไทย "ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ผมดีมาตลอดเพราะวิธีจำกัดความเสี่ยงของผมถูก อีกอย่างหนึ่งผมจะเล่นหุ้นเป็นจังหวะ ผมจะเหมือนกับเหยี่ยวที่บินมาโฉบเหยื่อแล้วก็บินไป รอจังหวะมาโฉบเหยื่ออีกครั้ง ผมจะลงไปเฉพาะชัวร์ๆ เมื่อไรที่ผมไม่แน่ใจจะหยุดดู และถอนการลงทุน" ทุกวันนี้น.พ.ยรรยงกล้าพูดว่าเขาเล่นหุ้นเก่งกว่าฝรั่ง ซึ่งเขามองว่าวิธีการเล่นหุ้นของฝรั่งค่อนข้างหมู "แค่ผมเกาะฝรั่งไปเรื่อยๆ ผมแทบไม่มีความเสี่ยงเลย ผมจะถือคติว่าเข้าพร้อมฝรั่ง แต่ออกก่อนฝรั่ง" ทำ Arbitrage ทุกครั้งที่มีโอกาส ความเป็นนักแสวงหาโอกาสของหมอยังฉายแววโดดเด่น เมื่อเขาใช้วิธีทำ Arbitrage หรือ การทำกำไรจากสองตลาด ด้วยการเข้าประมูลหุ้นของ ปรส.นอกตลาด แล้วนำมาขายในตลาด ได้กำไรจากส่วนต่างราคา "Discount" 20% โดยไม่มีความเสี่ยงใดๆ เลย "ตอนนั้นทุกวันศุกร์ ปรส.จะนำหุ้นออกมาประมูล ตัวแรกที่ประมูลคือ หุ้น S-ONE จำได้ว่าในกระดานราคา 7 บาท ผมใส่ซองประมูล 5.50 บาท กลยุทธ์ของผมจะตั้งราคา Discount 20% ประมูลไปตามกำลังเงิน 7 ล้านหุ้น 10 ล้านหุ้น พอเราได้หุ้นวันจันทร์ผมก็ขาย เวลาแค่เสาร์-อาทิตย์ ยังไงก็จำกัดความเสี่ยงได้อยู่แล้ว ผมถามว่าความเสี่ยงอยู่ตรงไหน!...ไม่มีเลย แต่ไม่เห็นมีใครมาประมูลแข่ง" หมอเล่าว่า "มีประมูลทุกศุกร์ ผมก็ได้เงินทุกศุกร์ ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไม! ไม่มีคนซื้อ ซึ่งตอนนั้นผมก็ได้ของดีไปหมดแล้ว ตอนหลังเหลือแต่หุ้นที่ไม่ค่อยมีสภาพคล่องแต่ผมก็ยังประมูลเพราะเห็นว่าราคามันถูก" หลังจากนั้นเขาก็ยังทำกำไรจากหุ้นที่ถูกทำ "เทนเดอร์ออฟเฟอร์" อีกหลายครั้ง ด้วยวิธี Arbitrage เหมือนเดิม "ตัวที่ผมคิดว่าน่าสนใจที่สุดคือ GSS เขาทำเทนเดอร์ฯในราคา 155 บาท ณ วันที่ประกาศมีราคา Discount อยู่ 25% ภายในระยะเวลา 3 เดือนผมได้ผลตอบแทนชัวร์ๆ 25% โดยไม่มีความเสี่ยง....แล้วทำไม! ผมจะไม่ลงทุน" ขาดทุน 30 ล้านบาท มากที่สุดในชีวิต ในวงการค้าหุ้นบางคนอาจจะมองเขาว่าเป็น "นักฉวยโอกาส" แต่หมอมองตัวเองว่าเป็น" นักแสวงหาโอกาส" มากกว่า ทุกเช้าหมอจะตื่นเช้ากว่าปกติเพื่อให้เวลากับการนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจ และเลือกหุ้นตัวที่เชื่อว่านักเล่นหุ้นจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ แต่หมอจะไม่ค่อยใส่ใจกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคมากนัก แต่จะให้ความสนใจกับหุ้นที่มี "ข่าวดี" มากกว่า โดยปกติเขาจะไม่เคยหัวเสียเมื่อหุ้นตก เพราะหมอบอกว่าเวลาหุ้นตก....ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยมีหุ้น! "ผมจะหัวเสียมากที่สุด ตอนที่เรารู้สึกว่าตัวเองโง่มากกว่า" มีเรื่องโง่อมตะที่หมอชอบเล่าให้ใครฟังบ่อยๆ " ตอนซื้อหุ้น FAS(บล.เอกเอเซีย ขณะนั้นมี กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นกรรมการผู้จัดการ) เป็นความโง่ที่ผมประทับใจที่สุด คือ โง่เพราะอ่านภาษาอังกฤษผิด ข้อแรก ผมเข้าใจว่าให้เอา 2 หุ้น FAS ไปแปลงเป็น 1 หุ้น S-ONE ข้อสอง สามารถแลกเป็นเงินได้ในราคา 280 บาท ผมก็คิดว่าข้อที่ 1 กับข้อที่ 2 ทำแบบไหนก็ได้ กะว่าจะทำ "Arbitrage" ผมซื้อไปประมาณ 100 กว่าล้านบาท ตอนนั้นหุ้น FAS ตกไป 25% ผมขาดทุนไป 30 ล้าน มากที่สุดในชีวิต ผมก็คิดว่าทำไม! หุ้นมันถึงตกทุกวัน เราก็ไปโทษคนอื่นว่าทำไม! มันโง่จังว่ะ หุ้นตกแล้วไม่ซื้อ...กำไรเห็นๆ ที่ไหนได้พอโทรศัพท์ไปถามที่ S-ONE เขาบอกว่าคุณอ่านภาษาอังกฤษผิด งานนั้นผมบอกตัวเองว่าโอโห้!...เราโคตรโง่เลยว่ะ"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น